You are currently viewing แถลงการณ์แสดงความห่วงใยของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ต่อเหตุการณ์ความรุนแรง

แถลงการณ์แสดงความห่วงใยของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ต่อเหตุการณ์ความรุนแรง

แถลงการณ์แสดงความห่วงใยของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี และข้อเสนอ

ตามที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตพลเรือน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอ่อน (Soft target) โดยเป็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้นำศาสนา และสามเณร คือ การลอบยิงอุสตาซ (ครูผู้สอนศาสนาอิสลาม) จนเสียชีวิต ที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส การลอบวางระเบิดทำให้เด็กนักเรียนฮาฟิส (นักเรียนท่องจำอัลกุรอ่าน) ได้รับบาดเจ็บ ที่อำเภอโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส การกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธในระหว่างรับประทานอาหาร จนได้รับบาดเจ็บ ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสและเหตุการณ์ลอบยิงสามเณร ทำให้สามเณรมรณภาพ 1 รูป ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law : IHL) และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบ และขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่เพียงแต่ทำลายชีวิตของพลเรือน แต่ยังกัดเซาะบั่นทอนความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งของคนในสังคมไทย

ดังนั้น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จึงขอเสนอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่าย ยุติการโจมตีหรือปฏิบัติการทางทหารที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์

2. คู่ขัดแย้งที่ใช้อาวุธ ขอให้ยึดหลักและเคารพกติกากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ International Humanitarian Law : IHL และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด พึงระลึกว่าการโจมตี หรือปฎิบัติการทางทหารที่ทำให้พลเรือนที่ไม่ใช่คู่สู้รบได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อม ที่ทำให้เกิดลูกหลง นอกจากจะเป็นการละเมิด IHL ยังทำให้สูญเสียความชอบธรรมในทางการเมืองและการต่อสู้

3. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบ ในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง และทำความจริงให้ปรากฏในทุกกรณี โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

4. รัฐบาลต้องเร่งรัดให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติในทุกกรณี ให้ใช้บุคลากรที่เป็นทีมสหวิชาชีพและกลไกในพื้นที่ทำงานเชิงรุก เพื่อเข้าไปเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของครอบครัวและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

5. รัฐบาล ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองระหว่างศาสนิกในชุมชนชายแดนใต้

6. ในเชิงป้องกัน ชุมชนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ต้องพัฒนากลไกการป้องกัน ด้านการแจ้งเตือน การเฝ้าระวัง การประสานงาน เป็นต้น ตลอดจนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) จากเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหาร ตามบริบทพื้นที่

7. สื่อมวลชน และประชาชนในสังคมไทย ต้องระมัดระวังในการสื่อสารและการใช้สื่อโซเชียล ที่นำไปสู่การเหมารวม ตีตรา และสร้างความเกลียดชังในทางศาสนา และต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้

8. ขอให้รัฐบาลเร่งแต่งตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพให้เร็วที่สุด เพื่อดำเนินการพูดคุยกับขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี การลังเลและรีรอจนเกิดสุญญากาศทางการเมืองเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทำให้สถานการณ์ที่คลี่คลายในช่วงที่มีการพูดคุย กลับมาปะทุรุนแรงใหม่อีกครั้ง อันนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้คนจากทุกฝากฝ่าย

สภาประชาสังคมชายแดนใต้
26 เมษายน 2568

ที่มา สภาประชาสังคมชายแดนใต้
ดูข่าวอื่นๆ ได้ที่ ข่าวสาร – Ikhwarn.com